Thai HD-COVID-19 Registry


หลักการและเหตุผล

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวาง ได้ส่งผลกระทบกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างมาก ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและมีอัตราของภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น เห็นได้จากรายงานจากทั่วโลก สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 เพื่อให้สถานพยาบาลที่ให้บริการฟอกเลือดมีแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามสถานพยาบาลแต่ละที่ยังมีการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด-19 แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละที่ การรวบรวมข้อมูลการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จากทั่วประเทศจึงน่าจะมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามจำนวนผู้ป่วยและทำให้เห็นภาพรวมการ ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดในสถานการณ์พิเศนี้ได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่ได้รับจะทำให้สมาคมโรคไตสามารถวางแผนและปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

การเก็บข้อมูล

จัดเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ โดยแต่ละสถานพยาบาลจะได้รับ username และ password เฉพาะเพื่อเข้าสู่ระบบ ข้อมูลที่เก็บได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย (โดยไม่รวมข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วยได้ เช่น เลขบัตรประชาชน เลขที่โรงพยาบาล เป็นต้น) ข้อมูลการฟอกเลือด ข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ข้อมูลการฟอกเลือดขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 ความรุนแรงของการติดเชื้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยการหายใจ ภาวะแทรกซ้อน และผลลัพธ์ทางคลินิกที่ 28 วัน (การรอดชีวิต และจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล)

กลุ่มประชากรเป้าหมาย

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดในระบบบริการของประเทศไทย ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป